แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากให้สมาชิกในครอบครัวหรือคนที่เรารัก ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แต่เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้น การเตรียมความพร้อมและเข้าใจในการดูแลอย่างถูกวิธี จะสามารถช่วยให้ทั้งคุณและผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี
และต่อไปนี้คือสิ่งที่อาจไม่ถูกพูดถึงบ่อยนัก แต่เป็นสิ่งที่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน ควรทำความเข้าใจ
1.ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของผู้ป่วย
ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ความเข้าใจในความต้องการเฉพาะบุคคล เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากอาการและความสามารถที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน การใส่ใจและประเมินความต้องการเหล่านี้อย่างละเอียด จะช่วยให้สิ่งที่เราพยายามจัดหามาเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการฟื้นฟูผู้ป่วย เป็นไปอย่างมีเป้าหมายและมีทิศทาง
2.6 เดือนแรก ห้ามพลาด!!
การฟื้นฟูสมรรถภาพในช่วง Golden Period หรือ 6 เดือนแรกหลังจากเกิด Stroke ช่วงเวลานี้, ร่างกายของผู้ป่วยจะมีศักยภาพสูงที่สุดในการฟื้นตัวและกู้คืนฟังก์ชันการทำงานของร่างกาย ด้วยกระบวนการ "Neuroplasticity", ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษของสมอง ที่สามารถปรับเปลี่ยนและฟื้นฟูตัวเองได้ การฝึกฝนและการฟื้นฟูอย่างเข้มข้นในช่วงนี้จะช่วยเร่งกระบวนการฟื้นตัวของสมอง, ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกู้คืนฟังก์ชันทางกายภาพ เช่น การเดิน การควบคุมกล้ามเนื้อ และการทำกิจกรรมประจำวันได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้, ยังช่วยลดระดับความพิการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนหรือนั่งไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เช่น ภาวะแผลกดทับหรือภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
3.สื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับผลกระทบจากความเสียหายของสมองส่วนที่ความคุมทางด้านภาษา จึงทำให้ มีปัญหาในการพูดหรือการเข้าใจภาษา เราจึงควรใช้วิธีการสื่อสารแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน หรือการใช้อุปกรณ์ช่วยสื่อสาร ก็จะช่วยให้การสื่อสารเป็นไปได้ง่ายขึ้น
4.ความปลอดภัยในบ้าน
การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงของการล้มหรือบาดเจ็บเป็นสิ่งสำคัญ อาจรวมถึงการติดตั้งราวจับในห้องน้ำ การเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ที่อาจทำให้เกิดอันตราย หรือ จัดทำทางลาดเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน
5.อารมณ์และพฤติกรรมที่ขึ้นๆลงๆ
ผู้ป่วยบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือพฤติกรรมชนิดที่เรียกว่าเป็นคนละคนเลยทีเดียว เช่น ความหงุดหงิดง่าย โมโหอารมณ์ร้อน หรือบางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า การได้รับการปรึกษาจากนักจิตวิทยา ความเข้าใจของคนรอบข้างและกำลังใจจากสมาชิกในครอบครัว ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแล ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี
6.สุขภาพผู้ดูแลก็สำคัญ
ผู้รับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองก็ต้องดูแลตัวเองไม่แพ้การดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันตัวเองจากการบาดเจ็บขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การใช้เทคนิคการยกที่ถูกต้อง, การใช้อุปกรณ์ในการผ่อนแรงรวมถึงผู้ช่วยกรณีเกินกำลัง , การหลีกเลี่ยงการโน้มหรือบิดตัวอย่างผิดวิธี, และการฝึกกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการปวดหลังได้ รวมถึงพยายามหาเวลาผ่อนคลายเพื่อชาร์จพลังให้กับตัวเองด้วย
7.ตัวช่วยที่ทำให้การจัดการต่างๆง่ายขึ้น
สำหรับบ้านเรา การเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองถือว่ามีความพร้อมอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่การรักษาฉุกเฉิน การรักษาพยาบาลต่อเนื่อง และการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยใช้สิทธิ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 นอกจากนี้ การสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เช่น สมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย ที่ www.thaistrokesociety.org นำเสนอข้อมูล ความรู้ และแนวทางในการรักษาให้กับผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงกลุ่มสนับสนุนผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น กลุ่ม Facebook "โรคหลอดเลือดในสมอง แตกตีบ ตัน stroke" ที่เป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ เปิดโอกาสให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้กับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม.
การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้านนั้นเป็นเรื่องที่ต้องการความเข้าใจลึกซึ้ง, ความอดทน, และการซัพพอร์ตเข้มแข็งจากสมาชิกในครอบครัวและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ บริการ Home Rehab ของ mr.big clinic พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยวางแผนและเตรียมความพร้อมเพื่อให้การดูแลเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ