บทนำ
จากสถิติของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข พบว่ากว่า 60% ในปี 2558 ของพนักงานออฟฟิศประสบกับอาการของออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของคนทำงานออฟฟิศที่กำลังคุกคามสุขภาพของพนักงานในองค์กร ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับคู่มือในการป้องกันออฟฟิศซินโดรม พร้อมแล้วไปดูกัน!
สารบัญ
มารู้จักออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร? มันเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานในสำนักงานเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในท่าทางเดิมๆ วันแล้ววันเล่า ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผลกระทบของออฟฟิศซินโดรมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความรู้สึกไม่สบายตัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตโดยรวมอีกด้วย หลายคนอาจต้องลาป่วยบ่อยขึ้นเพราะอาการปวดหลัง ปวดคอ หรือปวดข้อมือที่รบกวนการทำงาน นอกจากอาการทางกายแล้ว ออฟฟิศซินโดรมยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ความเครียดและความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การทำงานไม่มีความสุข ส่งผลให้ผลงานไม่ดีเท่าที่ควร
สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม
พฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุหลักของออฟฟิศซินโดรม การนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่ลุกเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว เลือดไหลเวียนไม่ดี นอกจากนี้ การใช้คอมพิวเตอร์ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ก้มคอมากเกินไป หรือพิมพ์งานในท่าที่ผิด ก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ สภาพแวดล้อมในที่ทำงานก็มีส่วนไม่น้อย โต๊ะ เก้าอี้ที่ไม่เหมาะสมกับสรีระ แสงสว่างไม่เพียงพอ หรืออุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของพนักงาน ความเครียดและแรงกดดันจากงานก็เป็นอีกปัจจัย เมื่อเราเครียด ร่างกายจะเกร็งตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อตึงและปวดเมื่อยได้ง่าย นอกจากนี้ ความเครียดยังทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมอีกด้วย
กลยุทธ์ : ปรับท่าทางและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
การปรับท่าทางและสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นกลยุทธ์สำคัญในการป้องกันและบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม เริ่มต้นด้วยการนั่งในท่าที่ถูกต้อง หลังตรง ไหล่ผ่อนคลาย และเท้าวางราบกับพื้น ท่านี้ช่วยลดแรงกดทับบนกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อ ทำให้รู้สึกสบายตัวขึ้นแม้นั่งทำงานเป็นเวลานาน โต๊ะควรอยู่ในระดับที่วางแขนได้สบาย ไม่ต้องยกไหล่หรือก้มตัวมากเกินไป ส่วนเก้าอี้ควรปรับให้เท้าวางราบกับพื้นและหัวเข่าอยู่ในระดับเดียวกับสะโพก การจัดวางจอคอมพิวเตอร์ ควรวางให้อยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ระยะห่างประมาณหนึ่งช่วงแขน เพื่อลดการเงยหน้าหรือก้มคอมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ปวดคอและบ่าได้
กลยุทธ์ : ออกนโนบายให้พักและเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ
การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของพนักงาน องค์กรควรออกนโยบายส่งเสริมให้พนักงานพักและเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรม การลุกเดินและยืดเหยียดร่างกายทุก 1-2 ชั่วโมงช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดอาการปวดเมื่อย และเพิ่มความกระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้ การพักสายตาจากหน้าจอโดยใช้กฎ 20-20-20 คือมองไกล 20 ฟุต (ประมาณ 6 เมตร) นาน 20 วินาที ทุก 20 นาที ช่วยลดความเครียดของดวงตาและป้องกันอาการตาล้า องค์กรควรจัดให้มีระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเพื่อเตือนพนักงานให้พักสายตาและยืดเหยียดร่างกายเป็นระยะ อาจใช้แอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ทำงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพักเป็นระยะจะช่วยให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่จะปฏิบัติตามนโยบายนี้
กลยุทธ์ : การส่งเสริมการออกกำลังกายและการยืดเหยียดร่างกาย
การส่งเสริมการออกกำลังกายและการยืดเหยียดร่างกายเป็นกลยุทธ์ที่ดี นการป้องกันและบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม เราสามารถเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกิจกรรมออกกำลังกายในตอนเช้าก่อนเข้างาน โดยใช้เพลงให้เต้นบริหาร การจัดคลาสโยคะหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อในที่ทำงานเป็นอีกทางเลือกที่ดีเช่นกัน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น และลดอาการปวดเมื่อยจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน การสร้างวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพในที่ทำงานเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ เราสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น การแข่งขันนับก้าว หรือการให้รางวัลสำหรับพนักงานที่มีพฤติกรรมสุขภาพดี สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้ทุกคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
กลยุทธ์ : การจัดการความเครียดและส่งเสริมสุขภาพจิต
เริ่มต้นจากการทำให้องค์กรเป็นองค์กรที่เน้นการทำงานแบบร่วมมือร่วมใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของทีม มากกว่าการวัดผลงานเป็นรายบุคคล ช่วยลดการแข่งขันและความขัดแย้งภายในองค์กร ส่งผลให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น และลดความเครียดของพนักงาน การจัดบริการนวดและกายภาพบำบัดในที่ทำงานช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยและความตึงเครียดให้กับพนังงานได้ นอกจากนี้ การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมยังช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม การสนับสนุนและจัดกิจกรรมในองค์กรที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสุขให้กับพนักงาน เช่น การจัดงานสังสรรค์ การทำกิจกรรมจิตอาสา หรือการจัดชมรมตามความสนใจของพนักงาน
กลยุทธ์ : การให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงาน
องค์กรควรดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักและทักษะที่จำเป็นแก่พนักงาน เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ และผลกระทบของออฟฟิศซินโดรม เพื่อให้พนักงานเข้าใจความสำคัญของการป้องกัน การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครอบคลุมจะช่วยให้พนักงานตระหนักถึงความเสี่ยงและมีแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อบรมพนักงานเกี่ยวกับท่านั่งทำงาน การวางตำแหน่งจอคอมพิวเตอร์ และการใช้อุปกรณ์สำนักงาน ควรมีการสาธิตและให้พนักงานได้ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้ องค์กรควรชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมในการทำงานที่อาจนำไปสู่การเกิดออฟฟิศซินโดรม เช่น การนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน หรือการใช้อุปกรณ์สำนักงานอย่างไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งแนะนำวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือการทำให้ทุกส่วนขององค์กรเห็นความสำคัญ และมีเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรม ผู้บริหารควรเป็นแบบอย่างที่ดีและสนับสนุนการดำเนินการอย่างจริงจัง
ท้ายบทความ
ในอนาคตแนวคิดการทำงานในออฟฟิศอาจจะเปลี่ยนแปลงไป พนักงานในองค์กรจะใส่ใจกับคุณภาพชีวิตมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในคุณภาพชีวิตที่ดีคือการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นการใส่ใจสุขภาพของพนักงานจึงเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรทำ เราหวังว่าในบทความนี้ จะเป็นตัวช่วยให้คุณนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปปรับใช้ในองค์กรของคุณได้ บางครั้งการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้